หลักสูตรออนไลน์



การพัฒนาหลักสูตรออนไลน์เพื่อเสริมสร้างทักษะสร้างสรรค์นวัตกรรม
โดย  :: จริยา  ทองหอม (03/07/2559)
  หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (สาขาการวิจัยและพัฒนาหลักสูตร)
บัณฑิตวิทยาลัย  มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

ผังมโนทัศน์


องค์ประกอบของหลักสูตรออนไลน์


                องค์ประกอบของหลักสูตรออนไลน์  ประกอบด้วยองค์ประกอบสำคัญ ๆ ได้แก่ แนวคิดหลักการของหลักสูตรออนไลน์  วิสัยทัศน์และหลักการของหลักสูตรออนไลน์  จุดหมายของหลักสูตรออนไลน์   เนื้อหาสาระของหลักสูตรออนไลน์  กิจกรรมการเรียนการสอน สื่อการเรียนรู้  และการวัดและประเมินผลของหลักสูตรออนไลน์  ดังนี้

 แนวคิดหลักการของหลักสูตรออนไลน์
                จากการศึกษาสภาพปัจจุบันและปัญหาของกลุ่มเด็กและเยาวชนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พบว่ามีปัญหา เกี่ยวกับ 1) ปัจจัยเกี่ยวกับความพร้อมของผู้เรียนที่ส่งผลให้ขาดโอกาสในการเข้าเรียนหรือออกกลางคัน เช่น ปัญหาด้านสุขภาพ สติปัญญา ยาเสพติด ชู้สาว และปัญหาทางครอบครัว  2) รูปแบบการจัดการศึกษา เช่น การจัดหลักสูตรไม่มีความหลากหลาย สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน รวมทั้งระบบการส่งต่อยังไม่มีประสิทธิภาพ และ 3) ศักยภาพของสถานศึกษาหรือแหล่ง  การเรียนรู้ เช่น สถานศึกษาบางแห่งอยู่ห่างไกลและไม่ได้มาตรฐาน สภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกสถานศึกษาไม่เหมาะสม แหล่งการเรียนรู้ยังไม่หลากหลายและเพียงพอ (สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา. 2554: 12; ครรชิต มนูญผล. 2559,17 มีนาคม: ออนไลน์) ซึ่งแนวทางการแก้ปัญหาเชิงนโยบายของกลุ่มเด็กและเยาวชนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานได้แก่ การรับเด็กเข้าเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยไม่มีการจำกัดสิทธิผู้เรียน เพื่อประกันโอกาสให้ผู้เรียนทุกคนในกลุ่มอายุมีสิทธิ์ในการเข้ารับการศึกษาและเรียนรู้โดยเท่าเทียมกัน การส่งเสริมให้มีหลักสูตรวิชาชีพเพื่อเตรียมความพร้อมสู่การทำงานสำหรับเยาวชนทุกคนในโรงเรียน (สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา. 2554: 26)

วิสัยทัศน์
                หลักสูตรออนไลน์เพื่อเสริมสร้างทักษะสร้างสรรค์นวัตกรรมมุ่งส่งเสริมผู้เรียนให้เลือกใช้เทคโนโลยีการสื่อสารเพื่อพัฒนาทักษะสร้างสรรค์นวัตกรรมการจินตนาการ การออกแบบการสร้างสรรค์นวัตกรรมการนำเสนอผลงาน การปรับปรุง และการประเมินผลนวัตกรรมที่สร้างสรรค์จากจินตนาการสู่ความเป็นจริงที่สัมผัสแตะต้องได้มุ่งพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณลักษณะของผู้ผลิต เป็นผู้คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น แทนคุณลักษณะของผู้บริโภคผ่านโดยระบบออนไลน์ ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เนตทั้งระบบ

หลักการ
1. เป็นหลักสูตรระยะสั้นผ่านระบบออนไลน์มีจุดหมายเพื่อเสริมสร้างทักษะความสามารถ
ของผู้เรียนในการสร้างสรรค์นวัตกรรม
2. เป็นหลักสูตรที่มีโครงสร้างยืดหยุ่นผู้เรียนสามารถเรียนได้ด้วยตนเองทุกที่ ทุกเวลา
3. การจัดการเรียนรู้ ยึดสภาพจริง ปัญหา และความต้องการของผู้เรียนจากชีวิตจริง
4. การวัดและประเมินผลตามสภาพจริง

จุดหมายของหลักสูตรออนไลน์
1. เพื่อเสริมสร้างทักษะสร้างสรรค์นวัตกรรม ประกอบด้วย
                1.1  ทักษะการจินตนาการ ประกอบด้วยทักษะย่อย 2 ทักษะ ได้แก่ 1) ทักษะการกำหนดโจทย์จินตนาการของผลงาน  และ 2) ทักษะการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของจินตนาการ
                1.2  ทักษะการออกแบบประกอบด้วยทักษะย่อย 2 ทักษะ ได้แก่ 1) ทักษะการร่างแบบ และ 2) ทักษะการสร้างแบบจำลอง
                1.3  ทักษะสร้างสรรค์นวัตกรรมประกอบด้วยทักษะย่อย 2 ทักษะ ได้แก่ 1) ทักษะการสร้างสรรค์นวัตกรรม และ 2) ทักษะการทดสอบความเป็นนวัตกรรม
                1.4  ทักษะการนำเสนอประกอบด้วยทักษะย่อย 2 ทักษะ ได้แก่ 1) ทักษะการแสดงผลงาน และทักษะการแสดงความคิดเห็น
                1.5  ทักษะการปรับปรุงประกอบด้วยทักษะย่อย 2 ทักษะ ได้แก่ 1) ทักษะการปรับปรุงแก้ไขผลงาน และ 2) ทักษะการสรุปผลงาน
                1.6  ทักษะการประเมิน ประกอบด้วยทักษะย่อย 2 ทักษะ ได้แก่ 1) ทักษะการประเมินกระบวนการ และ 2) ทักษะการประเมินผลงาน
2. เพื่อส่งเสริมผู้เรียนให้มีความสามารถในการเลือกและการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
3. เพื่อสนับสนุนผู้เรียนให้มีทักษะความสามารถในการคิด ทำ นำเสนอ ประยุกต์ใช้ และสร้างรายได้จากผลิตภัณฑ์ของตนเองตามศักยภาพของแต่ละบุคคล
4. เพื่อกระตุ้นผู้เรียนมีความฉลาดในการคิด ตัดสินใจ เลือกที่จะรับรู้ บริโภคอย่างมีเหตุผล
สามารถคิด ทำหรือผลิตสินค้าและบริการที่มีคุณภาพไม่ซ้ำแบบใครเป็นที่ต้องการของสังคม และ  การก้าวสู่ตลาดโลก

ระยะเวลาของหลักสูตรออนไลน์
                หลักสูตรออนไลน์เพื่อเสริมสร้างทักษะสร้างสรรค์นวัตกรรม เป็นหลักสูตรเสริมแบบบูรณาการผ่านระบบออนไลน์ สำหรับผู้เรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เนต เช่น  เฟสบุ๊ค  เว็บบล็อก ไลน์  หรืออีเมล์  ซึ่งเป็นช่องทางในการติดต่อสื่อสารให้ทุกคนสามารถเรียนรู้และเข้าถึงได้สะดวกรวดเร็ว ทุกที่ ทุกเวลา โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ ดังนี้
                ระยะที่ 1 การประชุมชี้แจงเพื่อเตรียมความพร้อม 
                ระยะที่ 2 การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ (ระหว่างเดือนพฤษภาคม 2559 -สิงหาคม  2559)
                ระยะที่ 3 การรายงานผลการปฏิบัติงานและประเมินเจตคติหลังการเรียนรู้ออนไลน์

เนื้อหาสาระของหลักสูตรออนไลน์
                เนื้อหาสาระของหลักสูตรออนไลน์เพื่อเสริมสร้างทักษะสร้างสรรค์นวัตกรรม ประกอบด้วย3  หน่วยการเรียนรู้ ดังนี้
                หน่วยที่  1  จินตวิศวทัศน์ (Imagineering Visual)  มุ่งเน้นการพัฒนาผู้เรียนในการสร้างผลงานจากความคิดจินตนาการให้เป็นผลงานที่สัมผัสแตะต้องได้
                หน่วยที่  2  จินตวิศวภัณฑ์ (Imagineering innovation) มุ่งเน้นการพัฒนาผู้เรียนในการสร้างผลงานประเภทสิ่งของเครื่องใช้ เพื่อประโยชน์ในชีวิตประจำวัน
                หน่วยที่  3  จินตวิศวพาณิชย์ (Imagineering commerce) มุ่งเน้นการพัฒนาผู้เรียนในการสร้างผลงานหรือนวัตกรรม ประเภทสิ่งประดิษฐ์  กระบวนการ  แนวคิด หรือการบริการ เพื่อสร้างรายได้ ธุรกิจ การค้าเชิงพาณิชย์

กิจกรรมการเรียนการสอน
                การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนโดยใช้กระบวนการเรียนรู้จินตวิศวกรรมผ่านระบบออนไลน์ ประกอบด้วย 6 ขั้นตอน  ดังนี้ 
ขั้นที่ 1 จินตวิศวทัศน์ (Imagineering Visual) แบ่งออกเป็น  2 ขั้นตอน ได้แก่  1.1)  ขั้นตอนการกำหนดโจทย์จินตนาการของผลงาน (Problem) และ 1.2) ขั้นตอนการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของจินตนาการ (Feasibility)
ขั้นที่ 2 จินตวิศวจำลอง (Imagineering Visual) แบ่งออกเป็น  2 ขั้นตอน ได้แก่  1.1) ขั้นตอนการร่างแบบ (Draft)  และ 1.2) ขั้นตอนการสร้างแบบจำลอง (Prototype)
ขั้นที่ 3 จินตวิศวรังสรรค์ (Imagineering Create) แบ่งออกเป็น  2 ขั้นตอน ได้แก่  1.1 ) ขั้น ตอนการสร้างสรรค์นวัตกรรม (Create) และ 1.2)
ขั้นที่ 4 จินตวิศวลีลา (Imagineering Present) แบ่งออกเป็น  2 ขั้นตอน ได้แก่  1.1) ขั้นตอนการแสดงผลงาน (Show)  และ 1.2) ขั้นตอนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Knowledge Exchange) 
ขั้นที่จินตวิศวนิยม (Imagineering Improvement) แบ่งออกเป็น  2 ขั้นตอน ได้แก่  1.1) ขั้นตอนการแก้ไขผลงาน (Revised) และ 1.2) ขั้นตอนการสรุปผลการทำงาน (Conclusion) 
ขั้นที่ จินตวิศวพิจารณ์  (Imagineering Evaluate) แบ่งออกเป็น  2 ขั้นตอน ได้แก่  1.1 ) ขั้นตอนการประเมินกระบวนการจินตนาการ (Process Evaluation)  และ 1.2 ) ขั้นตอน การประเมินคุณภาพผลงาน (Product Evaluation)

สื่อการเรียนรู้
                การกำหนดสื่อและแหล่งการเรียนรู้ที่หลากหลายสอดคล้องกับเนื้อหาสาระกิจกรรม และระดับชั้นของผู้เรียนเหมาะสม ดังนี้
                1.  เว็บเพจ
                2. คู่มือครูและเอกสารประกอบหลักสูตร
                3. ใบงานประกอบการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน
                4. แบบบันทึกการปฏิบัติงานสำหรับผู้เรียน
                5. ปฏิทินการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน
                6. ข้อมูลสำหรับการติดต่อเมื่อมีปัญหาในการจัดการเรียนการสอนและส่งงาน

การวัดและประเมินผล

วิธีการวัดและประเมินผล
เครื่องมือ
เกณฑ์การประเมิน
1. การประเมินทักษะสร้างสรรค์นวัตกรรม
2. การประเมินหลักสูตร           จินตวิศวกรรมออนไลน์
1. แบบประเมินทักษะสร้างสรรค์นวัตกรรมก่อนและหลังเรียน
2. แบบสอบถามความคิดเห็นของผู้เรียนที่มีต่อหลักสูตรออนไลน์เพื่อเสริมสร้างทักษะสร้างสรรค์นวัตกรรม
3. แบบประเมินพฤติกรรมผู้เรียน
4. แบบประเมินผลงาน 
1. ผู้เรียนมีคะแนนเฉลี่ยทักษะสร้างสรรค์นวัตกรรมหลังเรียน สูงกว่าก่อนการเรียน
2. คะแนนเฉลี่ยความคิดเห็น ของผู้เรียนที่มีต่อหลักสูตร         จินตวิศวกรรมออนไลน์เพื่อเสริมสร้างทักษะสร้างสรรค์นวัตกรรมอยู่ในระดับมากหรือมีค่าเฉลี่ยตั้งแต่ 3.50 ขึ้นไป





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น