จริยา ทองหอม
24/07/2559
การวิเคราะห์ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 287/2559 พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง "นโยบายสำคัญของกระทรวงศึกษาธิการ" ในการอบรมสัมมนาผู้บริหารโรงเรียนไทยรัฐวิทยาทั่วประเทศ ประจำปี 2559 เมื่อวันเสาร์ที่ 9 กรกฎาคม 2559 ณ โรงแรมเชียงใหม่พลาซ่า ได้กล่าวถึงนโยบายสำคัญที่กระทรวงศึกษาธิการกำลังดำเนินกาตามนโยบายและเป้าหมาย Roadmap แผนงานที่สำคัญของกระทรวงศึกษาธิการ 11 เรื่อง ดังนี้
1. ภายใน 1 ปี : ให้เด็กทุกคนได้เข้าถึงการศึกษาและคุณภาพอย่างเท่าเทียมกัน รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ประเทศไทยมีอัตราการเข้าเรียนระดับประถมศึกษาร้อยละ 96 ของจำนวนประชากรวัยเรียนทั้งหมดซึ่งเป็นข้อมูลเปรียบเทียบกับ 140 ประเทศ พบว่า ไทยอยู่อันดับที่ 56 สูงกว่าประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน
2. ภายใน 5 ปี : ส่งเสริมให้ครูใช้ศักยภาพในการสอนอย่างเต็มที่ โดยได้กำหนดหัวข้อประเด็นปัญหาที่สำคัญ 6 หัวข้อหลักตามนโยบาย คือ 1) หลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ 2) ครู 3) การบริหารจัดการ 4) ICT เพื่อการศึกษา 5) การประเมินและการพัฒนามาตรฐานการศึกษา 6) การผลิตพัฒนากำลังคนและงานวิจัย ซึ่งสิ่งที่ควรคำนึงถึง คือ สภาพแวดล้อมทางการศึกษาของอาเซียน 3 ด้าน คือ "ห้องเรียน" บางแห่งถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 19, "ครูผู้สอน" ผลิตมาจากหลักสูตรที่ใช้สำหรับการเรียนการสอนในศตวรรษที่ 20 ในขณะที่ "นักเรียน" ยุคปัจจุบัน ต้องมีทักษะสำหรับการทำงานและการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21
3. ภายใน 1 ปี : จะทำครูให้ครบตามเกณฑ์ ภายใน 2 ปี : จะทำครูให้มีครูประจำชั้นครบทุกห้อง ภายใน 5-10 ปี : จะทำให้ครูตรงสาขา จากข้อมูลจำนวนโรงเรียนในปัจจุบัน เมื่อแยกตามขนาดห้องเรียน ทำให้เห็นว่าไทยมีโรงเรียนขนาดเล็ก จำนวน 15,577 โรงเรียน ในจำนวนนี้เป็นโรงเรียนที่มีนักเรียนไม่เกิน 20 คน จำนวน 1,072 แห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงเรียนที่มีนักเรียน 0 คน จำนวน 207 แห่ง ครู 230 คน ซึ่งเมื่อไม่มีนักเรียนเรียนแล้ว ก็จำเป็นต้องเกลี่ยครูไปช่วยราชการในโรงเรียนอื่นที่มีความขาดแคลนหรือครูไม่ครบชั้น
4. ภายใน 2 ปี : จะทำให้เด็กเรียนท่องจำ ในสิ่งที่ควรจำ และนำสิ่งที่จำไปฝึกคิดวิเคราะห์ แก้ปัญหา และนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ครบทุกโรงเรียน จากข้อมูล UNESCO ระบุถึงจำนวนชั่วโมงเรียนต่อปีของนักเรียนไทยในระดับอายุต่างๆ พบว่า ระดับประถมศึกษา เด็กไทยเรียนมากเป็นอันดับ 1 ของโลก ในชั้น ป.4-5 คือ 1,200 ชั่วโมง/ปี ส่วนระดับชั้นอื่นๆ ก็ติดอันดับสูงของโลกเช่นกัน ส่งผลให้นักเรียนไทยมีการบ้านมาก นักเรียนและผู้ปกครองต่างก็มีความเครียด ที่สำคัญการเรียนการสอนยังไม่ได้ส่งเสริมให้นักเรียนคิดวิเคราะห์อย่างสร้างสรรค์มากเท่าที่ควร จึงเป็นที่มาของโครงการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ที่ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งเน้นให้โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการในปีแรกจำนวน 4,100 โรง ได้จัดกิจกรรมที่เน้น 4H คือ Head Heart Hand Health โดยสิ่งสำคัญคือ ปรับปรุงโครงสร้างเวลาเรียนใหม่ให้ชั่วโมงเรียนในห้องเรียนลดลง และชั่วโมงทำกิจกรรมเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งเน้นการปรับกระบวนการสอนของครูเพื่อให้เด็กได้ฝึกคิดวิเคราะห์และแก้ปัญหามากขึ้น รวมทั้งการปรับปรุงข้อสอบโดยใช้ข้อสอบมาตรฐานกลางในรูปแบบอัตนัยและปรนัยที่เน้นการคิดวิเคราะห์ให้มากขึ้น โดยใช้การประเมินผล AAR (After Action Review) มาใช้เป็นขั้นตอนหนึ่งในวงจรการทำงานเพื่อทบทวนวิธีการทำงานทั้งด้านความสำเร็จ ข้อค้นพบ และปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อนำผลจากการประเมินในปีแรกมาดำเนินการในระยะต่อไป
5. ภายใน 5 ปี : จะทำให้มีการเรียนการสอน STEM ศึกษา (Science Technology Engineering and Mathematics) ครบทุกโรงเรียน เพื่อให้การเรียนการสอน STEM ศึกษา สอดคล้องและเป็นไปในแนวทางเดียวกัน จึงมีคำสั่งกระทรวงศึกษาธิการ แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายการจัดการเรียนการสอนสะเต็มศึกษาในสถานศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ รวม 3 คณะ เพื่อทำหน้าที่เป็นคณะอำนวยการการจัดการเรียนการสอน พัฒนาหลักสูตร และขับเคลื่อนการจัดการเรียนการสอน โดยกำหนดเป้าหมายในการพัฒนากิจกรรมสะเต็มศึกษา และกำหนดกิจกรรมสะเต็มศึกษา ทั้งนี้ ได้กำหนดเป้าหมายโรงเรียนเข้าร่วมโครงการขับเคลื่อนสะเต็มศึกษา ในปี 2559 จำนวน 2,495 โรง และตั้งเป้าขยายให้ครบทุกโรงเรียน ภายในปี 2564
6. ภายใน 3 ปี : ยกระดับภาษาอังกฤษให้นักเรียนสามารถใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารในชีวิตประจำวันได้ ผลการจัดอันดับความรู้ภาษาอังกฤษจาก 10 ประเทศอาเซียน พบว่าประเทศในอาเซียนที่ประชาชนพูดภาษาอังกฤษได้ ลำดับที่ 1 คือ สิงคโปร์ 71% รองลงมา 4 อันดับแรก คือ ฟิลิปปินส์ 55.49% บรูไน ดารุสซาลาม 37.73% มาเลเซีย 27.24% และไทย 10% (6.54 ล้านคน) ในส่วนของประเทศไทยถือเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ต้องการยกระดับภาษาอังกฤษให้ประชาชนและผู้เรียนทุกระดับสามารถใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารในชีวิตประจำวันได้
7. ภายในปี 2560 : ปรับระบบการสอบ O-NET ให้เป็นที่ยอมรับ และสะท้อนถึงคุณภาพของการจัดการศึกษา จากผลการทดสอบ O-NET ปีการศึกษา 2558 ในระดับชั้น ป.6 รายวิชาภาษาไทย สังคมศึกษา ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ เมื่อได้จำแนกตามตามสังกัด พบว่ากลุ่มโรงเรียนสาธิต สกอ. มีผลการสอบทุกรายวิชาสูงกว่าทุกสังกัด ในขณะที่ผลการทดสอบของโรงเรียนเอกชน จะได้คะแนนสูงกว่า สพฐ. ทุกรายวิชาเช่นกัน แนวทางข้างต้นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ระบบการสอบ O-NET เป็นที่ยอมรับ และสะท้อนถึงคุณภาพของการจัดการศึกษาที่แท้จริง ซึ่งจะส่งผลให้นักเรียนสนใจการเรียนในห้องเรียน ไม่มุ่งเน้นไปที่การกวดวิชา เพราะข้อสอบที่ออกจะสอดคล้องกับเนื้อหาการเรียนการสอนในชั้นเรียน ที่สำคัญอีกประการคือ ผลการทดสอบ สามารถนำไปใช้วางแผนการปรับปรุงคุณภาพการเรียนการสอนรายวิชาต่างๆ ให้สูงขึ้นต่อไป
8. ภายใน 10 ปี : จะผลิตกำลังคน ให้ตรงกับความต้องการของประเทศ จากข้อมูลของ World Economic Forum ในการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขัน (ด้านการศึกษา) พ.ศ. 2558-2559 (ข้อมูลเปรียบเทียบจาก 140 ประเทศ) พบว่า ด้านการศึกษาในหมวดพื้นฐานเปรียบเทียบ 3 ปี (จาก 61 ประเทศ) ของไทย พบว่าตัวชี้วัดที่มีเกณฑ์ต่ำ ประกอบด้วย ความสามารถด้านภาษาอังกฤษ การสอนวิชาวิทยาศาสตร์ การจัดการศึกษาในมหาวิทยาลัย และการบริการการศึกษาไม่ตอบสนองความจำเป็นของธุรกิจ ทั้งนี้ ได้วางแผนดำเนินการโดยได้จัดทำฐานข้อมูล Demand/Supply Side ให้มีความทันสมัยภายใน 1 ปี โดยให้สำรวจความต้องการแรงงานจากสถานประกอบการและผู้จ้างงานต่างๆ ในพื้นที่ของแต่ละจังหวัด จากนั้นจะให้สถานศึกษาเปิดหลักสูตรที่เป็นไปตาม Demand Side (Re-Profile มหาวิทยาลัยและอาชีวศึกษา) ภายใน 10 ปี โดยกำหนดให้งานงบประมาณเป็นตัวขับเคลื่อนในการกำหนดทิศทางดังกล่าว
9. ผลิตคนดีออกสู่สังคม กระทรวงศึกษาธิการได้มีแนวทางนโยบายที่จะผลิตผู้เรียนที่ดี มีคุณธรรม จริยธรรม เป็นคนดีออกสู่สังคม จึงได้กำหนดนโยบายและโครงการต่างๆ เช่น โรงเรียนคุณธรรม, การฟื้นฟูกิจกรรมลูกเสือ เนตรนารี ในสถานศึกษา, โครงการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ (ด้าน Heart), โครงการธนาคารขยะ, กิจกรรมการรักษาทรัพยากรธรรมชาติของสถานศึกษาทุกสังกัด, โครงการโตไปไม่โกง เป็นต้น
10. ภายในปี 2560 : ซ่อมบ้านพักครูให้แล้วเสร็จทั้งหมด กระทรวงศึกษาธิการได้สำรวจบ้านพักครูทั้งหมด พบว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 44,359 หลัง ในจำนวนนี้อยู่ในสภาพที่ดีไม่ต้องซ่อมจำนวน 27,422 หลัง มีสภาพที่จำเป็นต้องซ่อมแซม จำนวน 12,928 หลัง ภายในปี 2560
11. การแก้ปัญหาทุจริตและประพฤติมิชอบ กระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญต่อประเด็นการแก้ปัญหาการทุจริต คือ การป้องกันและมาตรการดำเนินการเพื่อป้องกันการทุจริตจากการวิ่งเต้นโยกย้าย การใช้ดุลยพินิจการลงโทษ และการตั้งคณะกรรมการสอบสวน
วิเคราะห์ผลการดำเนินงานตามนโยบาย ของ รมว.ศธ. การวิเคราะห์ผลจากการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 ระหว่างเดือนมิถุนายน 2559 - กรกฎาคม 2559 มีดังนี้
1. การดำเนินงานตามนโยบาย พบว่า โรงเรียนได้พยายามดำเนินงานตามนโยบายที่เป็นจุดเน้นของกระทรวงในทุก ๆ กิจกรรม อาทิ กิจกรรมลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ กิจกรรมแนะแนว Stem ศึกษา อาเซียนศึกษา การพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ การพัฒนา O-net กิจกรรมลูกเสือ-เนตรนารี กิจกรรมพัฒนาคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของผู้เรียน รวมทั้งการสนับสนุนการผลิตกำลังคนให้ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและการผลิตของประเทศ
2. คุณภาพการศึกษาระยะยาว พบว่า การเร่งรัดการดำเนินงานของกิจกรรมต่าง ๆ ทำให้ครูต้องละทิ้งภาระหน้าที่หลักในการสอนในชั่วโมงเรียนตามปกติไปให้ความร่วมมือในกิจกรรมต่าง ๆ ตามนโยบาย ทำให้นักเรียนไม่ได้เรียนในชั่วโมงเรียนตามตารางสอนเพิ่มมากขึ้น การนำนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งในโรงเรียนและนอกสถานศึกษาเพิ่มมากขึ้น จนนักเรียนและครูเริ่มสับสน เพราะมีกิจกรรมจำนวนมากที่ต้องดำเนินการเพื่อตอบสนองนโยบายทำให้ไม่สามารถจัดการเรียนการสอนได้ตามตารางเรียนปกติ ซึ่งอาจส่งผล ในระยะยาวที่จะทำให้คุณภาพการศึกษาก้าวถอยหลัง ไม่ได้เป็นไปตามนโยบายและเป้าหมายของรัฐบาล
........................................................................................
ที่มา:: บัลลังก์ โรหิตเสถียร. (11/7/2559). ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 287/2559 รมว.ศธ.บรรยาย นโยบายสำคัญของ ศธ. ในการอบรมสัมมนาผู้บริหาร รร.ไทยรัฐวิทยาทั่วประเทศ. สืบค้นเมื่อ 24/07/2559
จาก http://www.moe.go.th/websm/2016/jul/287.html